▲ กลับด้านบน

แหล่งการเรียนรู้เพื่อการแข่งขัน ตอบปัญหาศีลธรรมในพระพุทธศาสนา เรื่องศีล ๕

6 พ.ย. 60 เปิดอ่าน 12413 โดย น.ส.นิตยา ผาติโสภณ
  แก้ไข

แหล่งการเรียนรู้เพื่อการแข่งขัน
ตอบปัญหาศีลธรรมในพระพุทธศาสนา

เรื่อง ศีล ๕


ความหมาย

 ศีล แปลว่า ปกติ เป็นวินัยทางธรรมเบื้องต้นของคน เป็นเครื่องจำแนกคนออกจากสัตว์ ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีลักษณะปกติของมันเอง เช่น ปกติของม้าต้องยืน ไม่มีการนอน ถ้าม้านอนก็เป็นการผิดปกติแสดงว่าม้าป่วย ฤดูฝนตามปกติจะต้องมีฝนถ้าฤดูฝนกลับแล้ง ฝนไม่ตก แสดงว่าผิดปกติ

ที่มา : มงคลชีวิต ฉบับ “ทางก้าวหน้า”

ศีล ๕ ประกอบด้วย

๑.   ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์


    ๒.   อทินนาทานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์


    ๓.   กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม


    ๔.   มุสาวาทา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ

    ๕.   สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท


ที่มา : หนังสือธรรมศึกษา ชั้นตรี


ความสำคัญในการรักษาศีล ๕ คือ ทำให้คนเป็นปกติ

อะไร คือ ปกติของคน ? 

ปกติของคนที่สำคัญมี ๕ ประการ ดังนี้คือ

            ๑. ปกติของคนจะต้องไม่ฆ่า ถ้าวันไหนมีการฆ่า วันนั้นก็ผิดปกติของคน  แต่ไปเข้าข่ายปกติของสัตว์    เช่น เสือ หมี สุนัข ฯลฯ ซึ่งฆ่ากันเป็นทำร้ายกันเป็นปกติ ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้  ศีลข้อที่ ๑ จึงเกิดขึ้นมาว่าคนจะต้องไม่ฆ่า

            ๒. ปกติของสัตว์เวลากินอาหารมันจะแย่งกัน ขโมยกัน ถึงเวลาอาหารทีไรสุนัขเป็นต้องกัดกันทุกที แต่คนไม่เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๒ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่ลัก ไม่คอร์รัปชั่น           ไม่ยักยอกคดโกง

            ๓. ปกติของสัตว์ไม่รู้จักหักห้ามใจให้พอใจเฉพาะคู่ของตน ในฤดูผสมพันธุ์สัตว์จึงมีการต่อสู้แย่งชิงตัวเมีย บางครั้งถึงกับต่อสู้กันจนตายไปข้างหนึ่งก็มี แต่ปกติของคนแล้วจะไม่แย่งคู่ครองของใคร พอใจเฉพาะคู่ครองของตนเท่านั้น ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๓ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่ประพฤติผิดในกาม

            ๔. ปกติของสัตว์ไม่อาจวางใจได้สนิท พร้อมจะทำอันตรายได้ทุกเมื่อ แต่ปกติของคนนั้นเราพูดกันตรงไปตรงมา มีความจริงใจต่อกัน ถ้าใครโกหกหลอกลวงก็ผิดปกติไป ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ศีลข้อที่ ๔ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่พูดเท็จ

            ๕. ปกติแล้วเมื่อเทียบกันโดยสัดส่วนร่างกาย สัตว์มีกำลังร่างกายแข็งแรงมากกว่าคน แต่สัตว์ไม่มีสติควบคุมการใช้กำลังของตนให้ถูกต้อง ดังนั้นจึงไม่สามารถเปลี่ยนกำลังกายให้เป็นกำลังความดีได้เต็มที่ มีแต่ความป่าเถื่อนตามอารมณ์ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย แม้มีกำลังกายมาก แต่ไม่เคยออกแรงไปหาอาหารมาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ของมันแต่อย่างใด ส่วนคนแม้มีกำลังกายน้อยกว่าสัตว์ แต่อาศัยสติอันมั่นคงช่วยเปลี่ยนกำลังกายน้อย ๆ นั้น ให้เกิดเป็นกำลังความดี เช่น มีกตัญญูกตเวที เมื่อโตขึ้น ก็เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้

            สติเป็นของเหนียวแน่นคงทน แม้อดอาหารทั้งวันสติก็ยังดีได้ ทำงานหนักทั้งเดือนได้พักสติก็ยังดี          นอนป่วยบนเตียงทั้งปีสติก็ยังดี แต่สติกลับเปื่อยยุ่ยทันทีถ้าไปเสพสุรายาเมาเข้า สุราเพียงครึ่งแก้วอาจทำผู้ดื่มให้สติฟั่นเฟือนถึงกับลืมตัวลงมือทำร้ายผู้มีพระคุณได้ หมดความสามารถในการเปลี่ยนกำลังกายให้เป็นกำลังความดี        ดังนั้นผู้ที่เสพสุราหรือของมึนเมาจึงมีสภาพผิดปกติ คือมีสภาพใกล้สัตว์เข้าไปทุกขณะ ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๕ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่เสพของมึนเมาให้โทษ


"เรารักษาศีล ๕ บริบูรณ์แล้ว ทำให้ไม่ต้องตกอบายภูมิอีกเลย
การที่เรารักษาศีล ๕ ย่อมได้อานิสงส์ ๓ ประการ คือ
เป็นผู้มีอายุยืน มีโภคสมบัติมาก มีปัญญาคมกล้า”


  ที่มา : เรื่องพระปัญจสีลสมาทานิยเถระ จากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน

ประโยชน์/อานิสงส์การรักษาศีล ๕

๑.    เป็นทางมาแห่งโภคทรัพย์สมบัติ และทำให้สามารถใช้ทรัพย์ได้เต็มอิ่ม โดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทวงคืน

๒.    ทำให้มีชีวิตอยู่ด้วยความเป็นสุข ไม่ต้องหวาดระแวงว่าใครจะมาปองร้าย

๓.    ทำให้เกียรติคุณฟุ้งขจรไปว่าเป็นคนเชื่อถือได้ มีอนาคตดี

๔.    ทำให้แกล้วกล้าอาจหาญในท่ามกลางประชุมชน

๕.    ทำให้เป็นคนไม่หลงลืมสติ มีความจำดี

๖.     ตายแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ มีสุคติเป็นที่ไป และเป็นทางดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพานในที่สุด

  

โทษของการผิดศีล ๕

                ขาดศีลข้อ ๑  ทำให้อายุสั้น เช่น บุคคลที่ฆ่าคนมามาก ลงท้ายก็โดนเขาฆ่าเอาบ้าง

                ขาดศีลข้อ ๒  ทำให้เกิดโรคประสาท เช่น โรคหวาดระแวง โรคจิต

                ขาดศีลข้อ ๓  ทำให้เกิดกามโรค เช่น โรคเอดส์ได้ง่าย

               ขาดศีลข้อ ๔  ทำให้เกิดโรคความจำเสื่อม ผู้ที่โกหกมากๆ เข้า ลงท้ายแม้กระทั่ง ตัวเองก็หลงลืมว่าเรื่องที่ตน                                          พูดขึ้นนั้นเป็นเรื่องจริงหรือโกหก

                ขาดศีลข้อ ๕ ทำให้เกิดพิษสุราเรื้อรัง โรคตับแข็ง ขาดสติจนถึงขั้นก่อการทะเลาะวิวาทได้ง่าย

 

ที่มา : มงคลชีวิต ฉบับ “ทางก้าวหน้า”


องค์ประกอบของศีล (หลักวินิจฉัยว่าผิดศีลหรือไม่)

         การล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๑ ที่ทำให้ศีลขาด ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ

                 ๑.      สัตว์มีชีวิต

                 ๒.     รู้ว่าสัตว์มีชีวิต

                 ๓.      จิตคิดจะฆ่า

                 ๔.      พยายามฆ่า

                 ๕.      สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

            การล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๒ ที่ทำให้ศีลขาด ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ

                     ๑.      ของนั้นมีเจ้าของ

                     ๒.      รู้ว่าของนั้นมีเจ้าของ

                     ๓.      จิตคิดจะลัก

                     ๔.     พยายามลัก

                     ๕.      ได้ของมาด้วยความพยายามนั้น

           การล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๓ ที่ทำให้ศีลขาด ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ

                     ๑.      หญิงหรือชายนั้น เป็นบุคคลต้องห้าม

                     ๒.      จิตคิดจะเสพ

                     ๓.      พยายามเสพ

                     ๔.      อวัยวะเครื่องเสพจดถึงกัน

           การล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๔ ที่ทำให้ศีลขาด ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ

                     ๑.      เรื่องไม่จริง

                     ๒.      จิตคิดจะพูดให้ผิดไปจากความจริง

                     ๓.      พยายามพูดออกไป

                     ๔.      ผู้ฟังเข้าใจเนื้อความนั้น

           การล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๕ ที่ทำให้ศีลขาด ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ

                     ๑.      น้ำนั้นเป็นน้ำเมา

                     ๒.      จิตคิดจะดื่ม

                     ๓.      พยายามดื่ม

                     ๔.      ดื่มให้ล่วงลำคอลงไป

 

 

 

ที่มา : หนังสือธรรมศึกษา ชั้นตรี

ขอบคุณภาพจาก www.dmc.tv

สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ จาก www.dmc.tv










สรุปข่าว

หัวข้อ แหล่งการเรียนรู้เพื่อการแข่งขัน ตอบปัญหาศีลธรรมในพระพุทธศาสนา เรื่องศีล ๕

แท็กที่เกี่ยวข้อง

แสดงความคิดเห็น